โครงการพระราชประสงค์หุบกระพง

ข้อมูลรูปที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของโครงการ :

                หุบกะพงตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลเขาใหญ่ และตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี อยู่ห่างจากจังหวัดเพชรบุรี 40 กิโลเมตร และอยู่ห่างเขตอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 34 กิโลเมตร

               พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จแปรพระราชฐานประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี พ.ศ. 2507 และเยี่ยมเยียนราษฎรจังหวัดใกล้เคียง พระองค์ได้ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของเกษตรกร กลุ่มชาวสวนผักชะอำ จำนวน 83 ครอบครัว ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่จะนำไปประกอบอาชีพ พระองค์จึงทรงรับเกษตรกรเหล่านี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ฯพณฯ องคมนตรีหม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้จัดหาที่ดินในเขตจังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรดังกล่าว

              รัฐบาลอิสราเอล โดย ฯพณฯ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ขอทราบหลักการของโครงการ และอาสาช่วยเหลือในการพัฒนาการเกษตรในรูปของผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ทำสัญญาร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอิสราเอล มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี เริ่มวันที่ 19 สิงหาคม 2509 ถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2514 ใช้ชื่อว่า โครงการไทย-อิสราเอล เพื่อพัฒนาชุมชน (หุบกะพง) โดยเลือกที่ดินบริเวณหุบกะพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นที่ตั้งของศูนย์สาธิตและทดลองการเกษตรของโครงการ

              พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชดำริให้กันพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ ออกจากป่าคุ้มครองของกรมป่าไม้ ภายหลังพระองค์ทรงจับจองพื้นที่ดังกล่าวเยี่ยงสามัญชน โดยปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายป่าไม้และกฎหมายที่ดินทุกประการ เมื่อมีแนวพัฒนาที่ดินดีขึ้นแล้ว ก็จะจัดให้เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนในตอนต้น และเกษตรกรที่ขยันหมั่นเพียรแต่ขาดแคลนที่ดินทำกินเข้ามาอยู่อาศัยและทำประโยชน์ และการอพยพครอบครัวเกษตรกรได้จัดให้อยู่เป็นหมู่บ้านเกษตรกร โดยมีทางราชการเข้าช่วยเหลือให้คำแนะนำการบริหารงานของหมู่บ้านตัวอย่าง และมีการให้การศึกษาอบรมเกี่ยวกับหลักและวิธีการสหกรณ์ จนเห็นว่าสมาชิกของหมู่บ้านเกษตรกรมีความเข้าใจดีพอแล้ว จึงเข้าชื่อกันเพื่อขอจดทะเบียนเป็นสหกรณ์การเกษตร ชื่อว่า “สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด” เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2514 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าพระราชทานทะเบียนให้ผู้แทนสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด และได้พระราชทานโฉนดที่ดินบริเวณหุบกะพง จำนวน ๓ ฉบับ รวมเนื้อที่ 12,079 ไร่ 1 งาน 82 ตารางวา ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์และสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นเจ้าของโครงการ
 

ที่ตั้งของโครงการ :

                หมู่ที่ 8 และหมู่ที่ 10 ต.เขาใหญ่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

วัตถุประสงค์ :

                1. เพื่อเพิ่มผลผลิตทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการคัดเลือกพันธุ์สัตว์น้ำที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และภูมิประเทศ

                2. เพื่อสร้างแหล่งอาหารโปรตีนจากสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติให้แก่เกษตรกรไว้บริโภค 

                3. เพื่อเป็นแหล่งในการสาธิต/ฝึกอบรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแก่เกษตรกรในพื้นที่โครงการ และบริเวณใกล้เคียง

                4. เพื่อเพิ่มผลผลิตอาหารโปรตีนไว้เพื่อการบริโภคมากขึ้นในพื้นที่
 

ผลการดำเนินงาน :

                ดำเนินภารกิจหลักได้แก่ งานการจัดที่ดินตามพระราชประสงค์ จัดสรรแบ่งแปลงที่ดินให้เกษตรกร เข้าอยู่อาศัย จำนวน 787 แปลง พื้นที่ 7,608 ไร่ การขออนุญาตสร้างบ้าน ,การขออนุญาต ออกเลขที่บ้าน , การแก้ไขกรณีพิพาทและการตรวจสอบสิทธิการครอบครองที่ดิน จัดหาระบบชลประทานและการจัดสรรการใช้น้ำ มีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 2 สถานี สถานีที่ 1 จำนวน 3 เครื่อง สถานีที่ 2 จำนวน 2 เครื่อง ระบบท่อชลประทาน ความยาว 40 กิโลเมตร เป็นระบบท่อใยหิน เอส เบส ทอส ขนาด  12,  10, 8  และ 6 นิ้ว  แล้วเข้าพื้นสมาชิก 4 นิ้ว และอ่างเก็บน้ำในความรับผิดชอบของชลประทาน จำนวน 4 อ่าง คือ อ่างเก็บน้ำหุบกะพง ความจุ 400,000 ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำห้วยทราย - หุบกะพง ความจุ 800,000 ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำห้วยแก้ว ความจุ 320,000 ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำหมาก ความจุ 15,000 ลบ.ม. สาธิตและทดลองการเกษตร เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ งานสหกรณ์ในโครงการและส่งเสริมสหกรณ์ในโครงการ ปัจจุบันมีสมาชิกสหกรณ์ 445 คน มีทุนดำเนินงาน 24,164,750.17 บาท

ประโยชน์ของโครงการ :

                1. ทําให้เกษตรกรมีที่ดินทํากิน มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีอาชีพที่มั่นคง

                2. ได้มีแหล่งเรียนรู้ให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้เกี่ยวกับโครงการตามพระราชประสงค์

                3. ต่อยอดผลผลิตของเกษตรกรที่มีอยู่ให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

                4. ทําให้มีเงินหมุนเวียนในสหกรณ์หมู่บ้าน

                5. สร้างความสามัคคีให้ชุมชนและทําให้คนในชุมชนยอมรับฟังข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะของกันละกัน

GPS : 12.785252, 99.897987